ประวัติความเป็นมา

29 มีนาคม 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหน่วยงาน

พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ให้ความสำคัญต่อการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน ๔ ด้าน คือ ๑) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่มีต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน ๒) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม  คือ ให้รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด-ที่ถูก  สิ่งชั่ว-สิ่งดี  เพื่อปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว  เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง ๓) มีงานทำ มีอาชีพ คือ ต้องให้เด็กรักงาน สู้งาน ทำงานจนสำเร็จ อบรมให้เรียนรู้การทำงาน  ให้สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้ ๔) เป็นพลเมืองดี คือ การเป็นพลเมืองดีเป็นหน้าที่ของทุกคน  สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี การเป็นพลเมืองดีหมายถึงการมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ต้องทำงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ”

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีพันธกิจสำคัญ ได้แก่ การผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน การบริการแก่สังคม การวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การเสริมสร้างสังคมสมานฉันท์ และการพัฒนาองค์กรคุณภาพ ซึ่งพันธกิจดังกล่าวมุ่งส่งเสริมให้เกิดคุณภาพแก่ นักศึกษา บัณฑิต คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ข้างต้น และยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ที่กล่าวถึงประเด็นการสร้างความเข้าใจ และผสมผสานพลังร่วมกับประชาชน ตลอดจนการเสริมสร้างการยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีเนื่องจากความแตกต่างด้านรายได้ ด้านความรู้ ด้านทักษะ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยังขาดหน่วยงานหลักที่เป็นศูนย์รวม หรือคลังข้อมูลด้านการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของอาจารย์ กับการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น และสนองพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในพันธกิจดังกล่าว โดยมีจังหวัดเป็นผู้ชี้เป้าพื้นที่ดำเนินการ โดยเสนอจัดตั้งหน่วยงาน “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น” โดยจัดทำระเบียบจัดตั้งหน่วยงานเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อพิจารณาเห็นชอบและอนุมัติการจัดตั้ง หน่วยงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่ากองในกำกับของมหาวิทยาลัยฯ มีระบบและรูปแบบการบริหารจัดการเฉพาะที่เป็นอิสระจากระบบราชการปกติโดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เกิดความยั่งยืนสืบไป